เยี่ยมชมมรดกโลกพันปีที่ปราสาทวัดพู

ปราสาทวัดพูสร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 6-8 สมัยอาณาจักรเจนละบก เป็นยุคที่อาณาจักรเจนละยังยิ่งใหญ่ในภูมิภาคสุวรรณภูมิ โดยพวกเจนละบกครอบครองดินแดนเขมรภาคใต้ และเจนละน้ำครอบครองบริเวณลาวภาคกลาง กระทั่งถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ประมาณศตวรรษที่ 17 ทรงรวบรวมอาณาจักรเจนละทั้ง 2 เข้าด้วยกัน แล้วสถาปนาราชธานีขึ้นใหม่

รวมทั้งสร้างปราสาทนครวัดขึ้นด้วย ในเบื้องแรกนั้นว่ากันว่าปราสาทวัดพูใช้เป็นเทวาลัยขนาดใหญ่สำหรับบูชาศิวะเทพตามความเชื่อแบบพราหมณ์ (ฮินดู) ที่เขมรรับมาจากอินเดีย จึงเปรียบให้ตัวปราสาทวัดพูที่ตั้งอยู่บนภูเขาสูงใกล้ลำน้ำโขงเป็นเสมือนเขาพระสุเมรุ และเปรียบให้ลำน้ำโขงเป็นแม่น้ำคงคาที่ไหลมาจากพระศอ (คอ) ของพระศิวะ ทำให้กลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้เดินทางมาแสวงบุญบูชาทวยเทพ นอกจากนี้ที่ด้านหลังปราสาทวัดพูยังมีน้ำพุธรรมชาติใสเย็นไหลตลอดปี หลั่งรินออกจากหน้าผาสูง เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เมื่อถึงปราสาทวัดพูแล้วเราจะได้ตื่นตากับทัศนียภาพยิ่งใหญ่อลังการของแนวเทือกเขายาวเหยียดกางกั้นอยู่ตรงหน้า ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ภูควาย” หรือ “ภูเกล้า” หรือ “ลึงคบรรพต” เนื่องจากส่วนยอดสุดของภูลูกนี้เป็นหินโล่งเลี่ยน รูปร่างเป็นจุกกลมเหมือนเกล้ามวยผมของมนุษย์ บ้างก็จินตนาการไปว่ารูปร่างเหมือนศิวลึงค์ที่คนฮินดูนับถือ ถัดลงมาบนเขาสูงคือตัวปราสาทวัดพู ซุ่มซ่อนความเก่าแก่โบราณของตนอยู่ใต้ราวไพรเขียวครึ้มรกเรื้อ และต่ำลงมาอีกคือแนวบันไดหินนับร้อยๆ ขั้นจากพื้นราบขึ้นสู่ตัวเทวาลัยด้านบนสุด ทว่าก่อนจะขึ้นไปสัมผัสปราสาทเราต้องตีตั๋วเข้าชม แล้วเดินผ่านส่วนพิพิธภัณฑ์ก่อน (ส่วนนี้ห้ามถ่ายภาพ) เพื่อให้เข้าใจถึงประวัติ ความสำคัญ ความยิ่งใหญ่ และชมบางส่วนเสี้ยวของรูปสลักหินที่ขุดพบในปราสาทวัดพูอย่าง “หินตรีมูรติ” ที่สลักเป็นแท่งสูงประมาณ 2 เมตรกว่า ด้านบนสุดเป็นทรงกลม ตรงกลางเป็นทรงหลายเหลี่ยม และฐานเป็นสี่เหลี่ยม เปรียบเสมือนตรีมูรติ หรือเทพสำคัญที่สุด 3 องค์ของฮินดูที่มารวมกันเป็นหนึ่งเดียว คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพแห่งการสร้างสรรค์ เทพแห่งการรักษา และเทพแห่งการทำลายเพื่อเกิดใหม่นั่นเอง

Proudly powered by WordPress | Theme: Beast Blog by Crimson Themes.